Breaking News

ด่วน ‘พช.’ เลื่อนฝึกอบรมโคก หนอง นา โมเดล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

ด่วน ‘พช.’ เลื่อนฝึกอบรมโคก หนอง นา โมเดล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า รัฐบาลกำหนดแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และอนุมัติให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณโครงการเงินกู้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพื่อพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล และประชาชนที่เข้าร่วมเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพื้นที่เรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 25,179 ครัวเรือน ใช้เงินกู้กว่า 4,700 ล้านบาท ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ 7 กิจกรรมหลัก

โดยกำหนดฝึกอบรมกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล จำนวน 357 รุ่น 35,015 คน โดยขณะนี้ได้ฝึกอบรมไปแล้ว เป็นจำนวน 69 รุ่น 6,587 คน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนและสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ยังคงเหลือที่ยังไม่ได้ฝึกอบรมอีก 288 รุ่น 28,428 คน

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) มีการระบาดรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ คือ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจากการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน รวมทั้ง กรมฯ ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของกลุ่มเป้าหมายโครงการที่เข้ารับการฝึกอบรม อีกทั้ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดการแพร่ระบาด จึงขอเลื่อนการฝึกอบรมที่มีคนจำนวนมากมารวมกัน โดยเลื่อนการฝึกอบรมกิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ที่เหลือออกไปก่อน และจะเสนอขอปรับแผนต่อสภาพัฒน์ฯ ในวันที่ 7 มกราคมนี้

ทั้งนี้ แผนการฝึกอบรมที่เหลือจะปรับปรุงให้เป็นแบบวิทยากรเคลื่อนไปหากลุ่มเป้าหมาย โดยไม่เคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด และใช้มาตรฐาน SHA เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การลงทะเบียน การจัดพื้นที่รอคิว การอนุญาตเฉพาะผู้ที่สวมใส่หน้ากากอนามัยเข้าพื้นที่ เป็นต้น อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่อไป

“อย่าให้โควิด-19 ทำให้เราต้องหยุดทำงาน ทำเรื่องใดไม่ได้ก็ทำเรื่องอื่น ๆ ไปก่อน อย่าลืมปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตระหนักแต่อย่าตระหนกและไม่ประมาท” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย