พ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ประกาศใช้แล้ว เพิ่มการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมปัจจัยคุกคามด้านสุขภาพจิต การฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยจากการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อทุกประเภท
กรมสุขภาพจิต เปิดเผยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพจิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต โดยเพิ่มเติมการส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพจิต ควบคุมปัจจัยคุกคามด้านสุขภาพจิต ฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยให้ได้รับการคุ้มครองจากการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ในสื่อทุกประเภท ตลอดจนเพิ่มสิทธิให้ผู้ดูแลเพื่อสามารถให้ดูแลผู้ป่วย อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างมีความสุข
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 มีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน โดยเน้นการบำบัดรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการส่งเสริม ป้องกันด้านสุขภาพจิต และบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างถูกต้องและเพียงพอ มีการเผยแพร่ข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด ในทางที่ก่อให้เกิดทัศนคติไม่ดีต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งขาดการช่วยเหลือและให้สิทธิผู้ดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ ตลอดจนขาดกลไกการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการทุเลาสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข สมควรกำหนดกฏหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การป้องกัน และการควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิตขึ้นมา จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นหลักในการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิตฉบับใหม่นี้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของพ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับใหม่นี้ คือ การเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติให้ครอบคลุมด้านการส่งเสริม การป้องกัน การควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต โดยคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐและประชาชนในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังเพิ่มหน้าที่ให้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เสนอยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานสุขภาพจิตระดับชาติต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนกำหนดห้ามสื่อทุกประเภทเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าทางใดๆ อันจะทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ของผู้ป่วยและครอบครัว อีกทั้งในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้เผยแพร่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1. ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูล 2. ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฎในการเผยแพร่ข้อมูล 3. ระงับการเผยแพร่ข้อมูลหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการเผยแพร่ข้อมูล และ 4. ให้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น หากมิกระทำการจะมีโทษตามบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับการเปรียบเทียบไว้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ก็ยังมีผลในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และความปลอดภัยของสังคมอยู่ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถช่วยกันสังเกตอาการทางจิตของผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยสังเกตจากลักษณะ ดังต่อไปนี้ คือ หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวงไร้เหตุผล พูดจาเพ้อเจ้อ พูดจาก้าวร้าว คิดว่าตนเองมีความสามารถพิเศษเหนือคนปกติ แต่งกายแปลกกว่าคนปกติ ร่วมกับมีแนวโน้มจะมีอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม เช่น พยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง หรือ ทำร้ายผู้อื่น
หากประชาชนพบเห็นผู้ที่มีลักษณะที่กล่าวมาและมีภาวะอันตราย ให้ดำเนินการดังนี้ 1. กรณีไม่เร่งด่วน ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หากพิจารณาแล้วยังมีภาวะเสี่ยงอาการทางจิตไม่ทุเลา ให้ส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน 2. กรณีเร่งด่วน คือ มีภาวะอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ให้รีบโทรแจ้งสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และสายด่วนตำรวจ 191 นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งบุคคลหรือหน่วยงานต่อไปนี้ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย อบต. เทศบาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำตัวเข้ารับการบำบัดรักษาตามกฎหมาย โดยส่งต่อที่โรงพยาบาลใกล้เคียง สถานบำบัดรักษา และโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยต่อไป หากบุคคลเหล่านี้ ได้รับการดูแลรักษาและอยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง บางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ จะช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
สำหรับประชาชน ชุมชน และสังคม สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไม่ให้มีอาการกำเริบได้ ดังนี้ 1. ช่วยกันดูแล ติดตามให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง 2. เฝ้าระวัง สังเกตอาการ หากผิดปกติ หรืออาการกำเริบ ให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ 3. ให้กำลังใจผู้ป่วย และสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนได้ 4. ร่วมพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย จากการถูกเอาเปรียบจากสังคม และ 5. ส่งเสริมอาชีพ หางานอดิเรกให้ทำ เพื่อฝึกสมาธิ และให้ผู้ป่วยมีรายได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
นงนุช ดลชัยกรร์สกุล / ข่าว