นครปฐม ม.ล.ปนัดดาฯ บรรยายพิเศษแก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อของนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ
เลขาธิการมูลนิธิศรีสวางควัฒน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี บรรยายพิเศษ แก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อของนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
วันที่ 29 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น.ณ ห้องประชุมโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิศรีสวางควัฒน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, กรรมาธิการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความกตัญญู เป็นเครื่องหมายของคนดี” ให้แก่ นักเรียนระดับมัธยมชั้นปีที่ 5 จากสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมในโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อของนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2567 อันเป็นโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โอกาสนี้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้แนะแนวทางการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท รู้ รัก สามัคคี เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางไว้ และกล่าวความตอนหนึ่งการบรรยายพิเศษว่า “ความเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมี ถือว่ามีเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ถือเป็นความโดดเด่นเป็นสง่าแก่ชนชาติไทยมาช้านาน ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณลักษณะอันดีงามของคนไทยมาแต่โบราณกาล คือ การสำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน ของบุคคลทั้งไกลหรือใกล้ตัว ที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์ไว้ให้แก่องค์กร สังคม และชาติบ้านเมือง เราสามารถแสดงออกได้ด้วยความเคารพ จดจำในคำสอนและความเป็นแบบอย่างของท่าน เชื่อฟัง และปฏิบัติในกิจการงานต่างๆ อันเป็นสาธารณประโยชน์สาธารณกุศล สิ่งที่บำเพ็ญปฏิบัติเพื่อส่วนรวม มีความเสียสละ มีความเมตตากรุณา อันสามารถถือเป็นต้นแบบแห่งการดำเนินชีวิตและเกิดความยั่งยืนแก่ชีวิตคน การกระทำได้เช่นนี้ ย่อมนำพาความสุขความเจริญ และความเป็นสิริมงคลมาสู่ชีวิตตน คนรอบข้าง ตลอดจนหน้าที่การงานที่ตนมีความรับผิดชอบในสัมมาชีพ”
…………….