Breaking News

ไทย-จีน ฉลอง 50 ปี สัมพันธ์ทางการทูต จัดเสวนา”อนาคตวรรณกรรมไทย & จีน ใต้เงาแห่งความท้าทายและโอกาส”

ไทย-จีน ฉลอง 50 ปี สัมพันธ์ทางการทูต จัดเสวนา”อนาคตวรรณกรรมไทย & จีน ใต้เงาแห่งความท้าทายและโอกาส” ยกระดับวรรณกรรมเอเชียสู่ตลาดโลก

ภาคีเครือข่ายไทย & จีน ร่วมจัดเสวนาในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จัดเสวนาหัวข้อ “อนาคตของวรรณกรรมไทย & จีนใต้เงาแห่งความท้าทายและโอกาส” เวทีแลกเปลี่ยน กระชับความสัมพันธ์ ยกระดับวรรณกรรมไทยสู่ตลาดโลก
เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี สมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน และ China National Publications Import & Export Group ร่วมกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งประเทศไทย และสำนักพิมพ์ฮงซาน (ประเทศไทย) หรือ สำนักพิมพ์ห้องสมุดดอตคอม จัดเสวนาหัวข้อ “อนาคตของวรรณกรรมไทย & จีนใต้เงาแห่งความท้าทายและโอกาส” โดยมีนักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมชั้นนำของทั้งสองประเทศเข้าร่วม เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางวรรณกรรมเอเชียที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีความหลากหลายและเป็นสากลมากขึ้น แม้จะเผชิญอุปสรรคหลายด้าน แต่ก็มีโอกาสมหาศาลในโลกดิจิทัลและตลาดโลก รวมทั้งเป็นการสานต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความยั่งยืนและความสำเร็จของวรรณกรรมเอเชียในอนาคต

สำหรับผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสองประเทศ ได้แก่ ฝ่ายจีน นายชิวหัวต้ง รองประธานสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน และเลขานุการคณะกรรมการบริหาร, นายหลี่จิ่นฉี ผู้ตรวจการระดับสูงแผนกความร่วมมือระหว่างประเทศ สมาคมนักเขียนจีนและกรรมการบริหารสมาคมวิจัยวรรณกรรมญี่ปุ่นแห่งประเทศจีน, นายสืออีเฟิง รองประธานสมาคมนักเขียนปักกิ่ง, นายหวังเว่ยเหลียน รองประธานสมาคมนักเขียนเมืองกวางโจว, นางซุนผิน นักเขียนอาชีพของสมาคมนักเขียนมณฑลเจียงซู และนายหลี่เฉียง ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแอฟริกา กรมวิเทศสัมพันธ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน

ส่วนฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายธีรภัทร เจริญสุข ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ, นายนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, นางกนกวลี พจนปกรณ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและนักเขียนอาวุโส และนายชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราบต์ นักเขียนดาวรุ่ง เจ้าของผลงาน “กาหลมหรทึกคาธ” และ “คุณหมีปาฏิหาริย์”
แม้วรรณกรรมเอเชียจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ แต่ก็มีโอกาสมากมายในโลกดิจิทัลและตลาดโลก การรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความยั่งยืนและความสำเร็จในอนาคต

ภายในงานเสวนา จะมุ่งนำแลกเปลี่ยนถึง “แนวโน้มของวรรณกรรมเอเชียในอนาคต” ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. แนวโน้มของวรรณกรรมเอเชีย : การเติบโตของวรรณกรรมร่วมสมัยและวรรณกรรมท้องถิ่น มีการนำเสนอเรื่องราวจากมมองของคนท้องถิ่นมากขึ้น เช่น วรรณกรรมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ที่เคยถูกมองข้ามเนื้อหาเน้นประเด็นอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และวัฒนธรรมพื้นถิ่น, การผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมกับสมัยใหม่ นักเขียนรุ่นใหม่มักสะท้อนปัญหาสังคมร่วมสมัยผ่านวรรณกรรม โดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์หรือความเชื่อดั้งเดิม เช่น การใช้ตำนานพื้นบ้านมานำเสนอในรูปแบบแฟนตาซีหรือดิสโทเปีย, การขยายตัวของวรรณกรรมเอเชียในระดับโลก ซึ่งปัจจุบันวรรณกรรมจากเกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เริ่มมีการแปลมากขึ้นและเข้าถึงตลาดโลก โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Webtoon, นิยายออนไลน์หรือแอปอ่านนิยาย เป็นต้น
2. ความท้าทายของวรรณกรรมเอเชีย : ข้อจำกัดด้านภาษาและการแปล วรรณกรรมที่ไม่ได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงผู้อ่านต่างชาติ การแปลอาจทำให้ความหมายวัฒนธรรม หรือบริบทบางอย่างคลาดเคลื่อนไป, การแข่งขันกับสื่อรูปแบบใหม่ วรรณกรรมต้องแข่งขันกับสื่อบันเทิง เช่น ชีรีส์ เกม และโชเซียลมีเดีย ทำให้รูปแบบการนำเสนอวรรณกรรมต้องปรับให้ทันสมัย และดึงดูดผู้อ่านมากขึ้น, การคงอยู่ของระบบเซ็นเซอร์ในบางประเทศ นักเขียนยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเมืองหรือวัฒนธรรม ซึ่งอาจส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกผ่านวรรณกรรม
3. โอกาสของวรรณกรรมเอเชียในอนาคต : การใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล การเผยแพร่ผ่านออนไลน์ทำให้เข้าถึงผู้อ่านทั่วโลกได้ง่ายขึ้น และเปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่แจ้งเกิดได้โดยไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์, กระแสโลกสนใจเอเชีย ความสนใจในวัฒนธรรมเอเชียเพิ่มทั่วโลก ทั้งจากอาหาร ศิลปะ และสื่อบันเทิง สิ่งนี้ช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมเอเชียได้รับความนิยมมากขึ้น, การสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ มีโครงการแปลวรรณกรรมและทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรระดับโลกที่ช่วยเผยแพร่วรรณกรรมเอเชียสู่สายตานานาชาติ
#50ปีสัมพันธ์ไทยจีน

…………..